top of page

แนวปฏิบัติและการตีความ TFRS17 สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ตอนที่ 1


แนวปฏิบัติและการตีความ TFRS17 สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ตอนที่ 1.1-โดยอาจารย์ทอมมี่ พิเชฐ

TFRS17 นั้นเป็นมาตรฐานรายงานทางการเงินที่เขียนขึ้นมาเป็น Principle-based นั่นก็หมายความว่า TFRS17 นั้นเป็นการเขียนหลักการโดยกว้าง ๆ ว่ามาตรฐานควรจะเป็นอย่างไรเพื่อให้แต่ละบริษัทได้นำไปตีความกันอีกทีหนึ่ง


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราบอกว่า “จงเป็นคนดี” แล้วในมาตรฐานจะบอกเพียงหลักการกว้าง ๆ ว่าการเป็นคนดีนั้นเป็นอย่างไร แต่จะไม่ได้กำหนดเป็นข้อ ๆ ออกมาว่าต้องทำตามขั้นตอนอย่างไรบ้างจึงจะเป็นคนดี ในจุดนี้จะแตกต่างกับในสมัยก่อนที่กฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะเข้าข่ายในลักษณะ Rule-based เสียมากกว่า


ซึ่งถ้าเป็นตัวอย่างเดิม คือ ถ้าเราบอกว่า “จงเป็นคนดี” ในบริบทของ Rule-based แล้ว ก็อาจจะมีกฎออกมาว่าการเป็นคนดีนั้น ต้องปฏิบัติตาม 10 ข้อที่กำหนดไว้ (เช่น ต้องแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ต้องข้ามถนนตรงทางม้าลาย ต้องไปเลือกตั้ง หรือ ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ เป็นต้น) ถ้าทำตามครบได้ 10 ข้อทั้งหมด ก็จะถือว่าเป็นคนดี แต่ถ้าทำผิดเพี้ยนไปจาก 10 ข้อนี้ ก็จะถือว่าเป็นคนไม่ดี


โลกในยุคของ Principle-based จึงค่อนข้างแตกต่างกับโลกสมัยของ Rule-based อย่างสิ้นเชิง ซึ่งโลกของ Principle-based นั้น จะต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งผู้กำกับและผู้ที่ต้องใช้งานมาตรฐานนี้ให้สามารถพูดคุยหรืออภิปรายกันได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตีความแล้วสอดคล้องตามมาตรฐาน โดยในภาษาบัญชีจะใช้คำว่า “ปฏิบัติตามมาตรฐาน” หรือที่เรียกกันว่า Comply ตามมาตรฐาน ซึ่งแต่ละบริษัทก็อาจจะมีการตีความต่างกันออกไปแต่ก็ยังถือว่า Comply กับมาตรฐานอยู่



ในส่วนของ TFRS17 นั้น ได้เขียนขึ้นมาครอบคลุมทั้งธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งถ้าใครอยู่ในวงการทั้ง 2 แห่งนี้ ก็จะทราบเป็นอย่างดีว่าลักษณะในการประกอบธุรกิจนั้นแตกต่างกัน การเก็บข้อมูลแตกต่างกัน กลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน ลักษณะแบบประกันแตกต่างกัน Mindset ในการขายที่แตกต่างกัน รวมไปถึงกฎหมายที่บังคับใช้ก็แตกต่างกัน ดังจะเห็นว่าประเทศไทยมี พรบ.ประกันชีวิต กับ พรบ.ประกันวินาศภัย ที่แยกออกจากกัน


บางคนอาจจะสงสัยว่า ถ้าธุรกิจประกันวินาศภัยแตกต่างกับธุรกิจประกันชีวิตแล้ว ทำไม TFRS17 ถึงไม่แยกเขียนออกมาเฉพาะเจาะจงให้เข้ากับแต่ละธุรกิจไปเลย

ในส่วนตรงนี้ คนที่ร่างมาตรฐาน TFRS17 ไม่ได้มองแยกระหว่างประกันชีวิตกับประกันวินาศภัย (และก็ไม่ได้ดูกันที่ใบอนุญาตประกอบธุรกิจว่าเป็นบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย) หากแต่ดูที่ลักษณะของตัวสัญญาว่าเป็นสัญญาประกันภัยระยะยาว (Long Duration Contract) หรือสัญญาประกันภัยระยะสั้น (Short Duration Contract) เสียมากกว่า


ถ้านึกตัวอย่างง่าย ๆ สำหรับสัญญาประกันภัยระยะสั้น นั้นก็คือ สัญญาประกันภัยที่มีผลคุ้มครองกันปีต่อปี และเบี้ยประกันภัยสามารถปรับเพิ่มได้ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นสัญญาประกันภัยระยะยาวนั้น ก็จะมีระยะเวลาคุ้มครองของสัญญาที่นานมากกว่า 1 ปี

ดังจะเห็นได้ว่า บริษัทประกันชีวิตสามารถขายสัญญาประกันภัยระยะสั้น (Short Duration Contract) เช่น ประกันสุขภาพ เป็นต้น และในขณะเดียวกัน บริษัทประกันวินาศภัยก็สามารถขายสัญญาประกันภัยระยะยาว (Long Duration Contract) ได้ เช่น ประกันที่คุ้มครองมะเร็ง เป็นต้น


ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจประกันชีวิตส่วนใหญ่จะขายสัญญาประกันภัยระยะยาวและมีส่วนน้อยที่เป็นสัญญาประกันภัยระยะสั้น ในทางกลับกันทางฝั่งธุรกิจประกันวินาศภัยส่วนใหญ่จะขายสัญญาประกันภัยระยะสั้น และมีเพียงส่วนน้อย (หรือไม่มีเลย) ที่มีขายสัญญาประกันภัยระยะยาว



และถ้าใครได้อ่าน TFRS17 มาหลาย ๆ รอบ ก็อาจจะคิดเหมือนกันกับผมว่า TFRS17 เขียนขึ้นโดยให้ครอบคลุมสัญญาประกันภัยระยะยาวเป็นหลัก และเขียนวิธีอย่างง่ายสำหรับสัญญาประกันภัยระยะสั้นเอา โดย TFRS17 จะถือว่าสัญญาประกันภัยระยะสั้นเป็นส่วนหนึ่ง (หรือเรียกว่าเป็น Subset) ของสัญญาประกันภัยระยะยาวนั่นเอง


ดังนั้น ถึงแม้ว่าทั้ง 2 ธุรกิจจะใช้ TFRS17 ที่เขียนครอบคลุมมาเป็นชุดเดียวกัน แต่เราสามารถตีความ TFRS17 ให้เหมาะกับบริบทของธุรกิจของตัวเองได้ โดยถ้าเราแยกตีความ TFRS17 ให้เหมาะกับบริบทของฝั่งธุรกิจประกันวินาศภัย (ส่วนใหญ่จะขายสัญญาประกันภัยระยะสั้นและมีเพียงส่วนน้อยที่มีการขายสัญญาประกันภัยระยะยาว) นั้น ก็จะทำให้การปฏิบัติตาม TFRS17 นี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล แก้ปัญหาได้ตรงจุด ง่ายต่อการปฏิบัติตาม และไม่เป็นภาระต้นทุนกับทางธุรกิจมากจนเกินไป

 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

 

บทความที่น่าสนใจ (แนะนำให้อ่านก่อน)


บทความที่เกี่ยวข้อง

Comments


แองเคอ 1
แองเคอ 2
แองเคอ 3
bottom of page