top of page

แนวปฏิบัติและการตีความ TFRS17 สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ตอนที่ 2



โดยการตีความ TFRS17 นี้ แต่ละธุรกิจก็สามารถเขียนแนวปฏิบัติ (Guidance Note) ออกมาให้เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเองได้ โดยแนวปฏิบัตินี้ไม่ใช่คู่มือการทำงาน (Operating Manual) แต่เป็นเพียงแนวปฏิบัติในภาพรวมที่เป็นเหมือน Benchmark หรือแนวทางตั้งต้นให้ธุรกิจได้เลือกใช้ ซึ่งถ้าแต่ละบริษัทต้องการตีความที่แตกต่างกันออกไปเนื่องจากบริบทที่เฉพาะของตัวเอง ก็ยังสามารถทำได้อยู่เช่นกัน เพราะว่านี่คือ Principle-based ไม่ใช่ Rule-based อีกต่อไป


ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียนั้น จะมีแนวปฏิบัติของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยในมาเลเซีย (Industry Guidance Note) อยู่ประมาณ 88 หน้า ซึ่งก็เป็นเหมือนส่วนที่ตีความจากมาตรฐาน TFRS17 จำนวน xxx หน้า ให้เข้ากับบริบทภาพรวมของธุรกิจประกันวินาศภัย


ทั้งนี้ แนวปฏิบัติของภาคธุรกิจ (Industry Guidance Note) ในแต่ละประเทศนั้น จะดึงเอาบริบทของแต่ละบริษัทที่มีความคล้ายคลึงกันในภาพรวมในประเทศนั้น ๆ มาตีความลงไปเพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตาม โดยเฉพาะสำหรับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งแนวปฏิบัติของภาคธุรกิจ (Industry Guidance Note) ของประเทศนั้น ๆ อาจจะไม่ได้ครอบคลุมบริบทเฉพาะของบริษัทขนาดใหญ่ ที่สามารถเลือกที่จะตีความแตกต่างกันออกไปจากบริษัทขนาดเล็ก


แนวปฏิบัติของภาคธุรกิจ (Industry Guidance Note) จึงเป็นเหมือนแนวที่รวบรวมมาว่าส่วนใหญ่ควรจะปฏิบัติอย่างไร ซึ่งจะไม่ได้ครอบคลุมถึงทุกความเป็นไปได้ทั้งหมด และเหลือพื้นที่ให้บริษัทได้ตีความในแบบฉบับของตนเองอยู่บ้าง


ดังนั้น จึงไม่แปลกเลยที่แต่ละบริษัท (โดยเฉพาะบริษัทต่างประเทศ) จะมีแนวปฏิบัติในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งเรียกว่า Positioning Paper อีกฉบับหนึ่งที่ต่างคนต่างก็มีแบบฉบับของตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับ ระบบฐานข้อมูล กลุ่มลูกค้า กลุ่มสินค้า วิธีบริหารผลกำไร หรือแม้กระทั่งการทำให้สอดคล้องแผนธุรกิจของตนเองในอนาคต โดยบริษัทขนาดเล็กก็สามารถนำเอาแนวปฏิบัติของภาคธุรกิจ (Industry Guidance Note) มาปรับเปลี่ยนเป็น Accounting Positioning Paper และ Actuarial Methodology Paper ของตัวเองได้


แนวปฏิบัติของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยนั้น แบ่งออกมาตั้งแต่การตีความสำหรับวางกรอบว่าอะไรคือสิ่งที่เข้าข่ายมาตรฐาน TFRS17 อะไรคือสิ่งที่จะจัดกลุ่มสัญญาเข้าไว้ด้วยกัน อะไรคือนิยามของระยะเวลาที่คุ้มครอง อะไรคือการจัดกลุ่มแบบประกัน อะไรคือนิยามของกำไรหรือขาดทุนในแต่ละปี อะไรคือนิยามของความเสี่ยงและตัวแปรที่จะใช้ในการคำนวณ และอะไรคือสิ่งที่ควรแสดงผลในงบการเงินรวมถึงหมายเหตุประกอบงบการเงินที่ควรจะมี เป็นต้น


ถ้าจะให้จำแนกการตีความออกมาเป็นหมวดหมู่ เราสามารถแจกแจงออกมาได้ ดังนี้


กลุ่มเกริ่นนำและวางกรอบ

1. การแยกองค์ประกอบของสัญญาประกันภัย (Separation of Insurance Contract)

2. การรวมสัญญาประกันภัย (Combination of Contract)

3. ขอบเขตของสัญญาประกันภัย (Contract Boundary)

4. ระดับของการจัดกลุ่มสัญญาประกันภัย (Level of Aggregation)


กลุ่มทางด้านเทคนิคทางคณิตศาสตร์ประกันภัย

5. ทางเลือกในการใช้แบบจำลองในการประเมิน (Choice of Measurement Model)

6. กำไรขั้นต้นจากการให้บริการตามสัญญา (Contractual Service Margin) และหน่วยความคุ้มครอง (Coverage Unit); สัญญาที่สร้างภาระ (Onerous Contract)

7. อัตราคิดลด (Discount Rate)

8. ค่าปรับปรุงความเสี่ยงสำหรับความเสี่ยงที่ไม่ใช่ความเสี่ยงทางการเงิน (Risk Adjustment)


กลุ่มทางด้านเทคนิคทางการบัญชี

9. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาประกันภัย (Attributable Insurance Expense)

10. ทางเลือกปฏิบัติ (Transition Approach)


กลุ่มทางด้านเทคนิคของการประกันภัยต่อ

11. การนำสัญญาประกันภัยต่อไปปฎิบัติใช้ (Reinsurance Treatment)


กลุ่มด้านการแสดงผล

12. การนำเสนอผังบัญชีและการเปิดเผยงบ (Presentation Chart of Account and Disclosure)

13. ทางเลือกของนโยบายทางบัญชี (Accounting Policy Choices)

 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Kommentare


แองเคอ 1
แองเคอ 2
แองเคอ 3
bottom of page