top of page

บทสัมภาษณ์พลิกโฉมธุรกิจประกันกับ IFRS17 ตอนที่ 3 โดย ทอมมี่ แอคชัวรี


บทสัมภาษณ์พลิกโฉมธุรกิจประกันกับ IFRS17 ตอนที่ 3 โดย ทอมมี่ แอคชัวรี

วิธีการคำนวณมูลค่าประเมินหนี้สินของสัญญาประกันภัย IFRS17

มาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS17 นี้ ได้กำหนดแบบจำลองในการคำนวณมูลค่าหนี้สินของสัญญาประกันภัยอยู่ 3 แบบ ดังนี้


1. General Model (GM) เป็นวิธีพื้นฐานที่นิยมใช้กันมากที่สุด ซึ่งถอดแบบมาว่าวิธีการ Building Block Approach (BBA) โดยแบ่งเป็น กระแสเงินสดเพื่อภาระผูกพันกรมธรรม์ (Fulfillment Cash Flows) ที่มี Risk Adjustment อยู่ในนั้น และตบท้ายด้วย Contractual Service Margin (CSM)

2. Premium Allocation Approach (PAA) เป็นวิธีที่มองคล้ายๆ กับ Unearned Premium Reserves (UPR) ส่วนใหญ่จะใช้กับสัญญาเพิ่มเติมของบริษัทประกันชีวิต และแบบประกันของบริษัทประกันวินาศภัย

3. Variable Fee Approach (VFA) เป็นวิธีเฉพาะที่ใช้สำหรับแบบประกันที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล หรือ Universal Life หรือ Unit Linked ที่เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด ซึ่งในประเทศไทยนั้น มีเพียงเฉพาะ Unit Linked เท่านั้นที่ตรงตามเงื่อนไขและใช้วิธีนี้ได้


ในสมัยแรกเริ่มที่มีการร่างมาตรฐานของ IFRS17 กัน จะมีวิธีการที่เรียกว่า Building Block Approach (BBA) ที่เป็นการแบ่งส่วนประกอบต่างๆทีละบล็อค จนมาตอนหลังถูกตั้งเป็นวิธีมาตรฐานทั่วไปและเรียกชื่อใหม่ว่า General Model (GM) ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับแบบประกันทั่วไปครอบจักรวาล


General Model (GM) แบ่งส่วนประกอบต่างๆ ออกได้เป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ


1. กระแสเงินสดเพื่อภาระผูกพันกรมธรรม์ (Fulfillment Cash Flows) เปรียบเสมือนต้นทุนของสัญญาประกันภัยที่มีภาระผูกพันต้องจ่ายกระแสเงินสดเฉลี่ยออกไปในแต่ละระยะเวลาในอนาคต โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ในการคำนวณดังนี้

1.1 ประมาณการกระแสเงินสด Future Cash Flows จากสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยโดยใช้การประมาณการที่ดีที่สุด (Best Estimate Assumption) ไม่ว่าจะเป็น อัตราการเจ็บป่วย อัตราการตาย อัตราการขาดอายุกรมธรรม์ และค่าใช้จ่าย เป็นต้น

1.2 เติมส่วนของ Risk Adjustment for Non-financial Risk เข้าไป เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและทำให้ผันผวน (Deviate) ไปจากการประมาณการที่ดีที่สุด (Best Estimate Assumption) ซึ่งการคำนวณนี้เราจะเผื่อค่าความผันผวนในเชิงที่ทำให้มีผลลัพธ์ออกมามั่นใจว่าจะสามารถมีกระแสเงินสดเฉลี่ยออกมาจ่ายตามภาระผูกพันแม้ในวันที่จะมีความผันผวนก็ตาม ทำให้หลักการนี้คล้ายกับของ Risk Based Capital (RBC) ที่จะต้องมีการตั้ง Provision Adverse Deviation (PAD) ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี โดยตัวอย่างของสมมติฐานที่เป็น Non-Financial Risk ที่ต้องตั้งเผื่อก็จะมี อัตราการเจ็บป่วย อัตราการตาย อัตราการขาดอายุกรมธรรม์ ค่าใช้จ่าย เป็นต้น

1.3 นำกระแสเงินสดที่เกิดจาก สมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยจากการประมาณการที่ดีที่สุด (Best Estimate Assumption) และ Risk Adjustment for Non-Financial Risk มาคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบันโดยใช้ อัตราคิดลด (Discount Rate)


2.Contractual Service Margin (CSM) จะเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็น กำไรทั้งหมดที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นจากสัญญาประกันภัย (Expected Contract Profit) ก็ว่าได้ วิธีคำนวณหาค่านี้ก็มาจากการหาผลต่างของค่า 2 ค่าต่อไปนี้

2.1 มูลค่าปัจจุบันของประมาณการกระแสเงินสดเฉลี่ยที่จ่ายตามภาระผูกพัน โดยภาระผูกพันที่ว่านี้ให้ประมาณการเสมือนหนึ่งว่าเบี้ยทั้งหมดที่จะได้รับมาในอนาคตจะไม่มีกำไรเลย โดยจะเอาไปใช้จ่ายภาระผูกพันกรมธรรม์จนหมด

2.2 มูลค่าปัจจุบันของประมาณการกระแสเงินสดออก (Cash Outgo) ของ Fulfilment Cash Flows เมื่อเอาส่วนต่างของมูลค่าปัจจุบันระหว่าง “หนี้สินที่ตั้งใจว่าจะไม่มีกำไร” มาหักออกด้วย “หนี้สินจาก Best Estimate + Risk Margin” แล้ว ก็จะได้ “กำไรที่คาดหวัง” ในรูปของ Contractual Service Margin (CSM)


“ทั้งนี้ ถ้าเป็นกรมธรรม์ที่เพิ่งขายในวันแรก (Inception) นั้น สามารถจะนำวิธีลัดในการคำนวณ Contractual Service Margin (CSM) โดยหยิบจาก มูลค่าปัจจุบันของ Fulfilment Cash Flows ได้เลย เพราะแบบประกันที่มีกำไรทุกครั้งจะมี มูลค่าปัจจุบันของ Fulfilment Cash Flows ที่เป็นลบ (เปรียบเหมือนใน Risk Based Capital (RBC) ที่ Gross Premium Valuation ในปีแรกจะติดลบ ถ้าแบบประกันเป็นแบบที่ไม่ขาดทุน) และสามารถนำค่านั้นเป็น Contractual Service Margin (CSM) ตรงๆ ได้เลย”


บทสัมภาษณ์พลิกโฉมธุรกิจประกันกับ IFRS17 ตอนที่ 3 โดย ทอมมี่ แอคชัวรี

เมื่อนำ General Model (GM) มาใช้แล้วเวลาผ่านไปจะบันทึกบัญชีอย่างไร


1. Contractual Service Margin (CSM) จะทยอยรับรู้กำไร โดยการ Release ออกมา ซึ่งการ Release มูลค่า CSM ออกมา จะทำให้ CSM ลดลง และส่วนที่ลดลงนั้นจะรับรู้ออกมาเป็นกำไรเข้างบกำไรขาดทุน อนึ่ง CSM นั้น จะถูกบันทึกบัญชีอยู่ในส่วนของหนี้สิน (Liability) เพราะถือว่าเป็นกำไรที่ยังไม่สามารถรับรู้ได้ และมูลค่าของ CSM นั้น ยังต้องนำมาเปรียบเทียบกับงบดุลอีกด้วย เพราะเคยเกิดกรณีที่ว่า CSM มีค่ามากเกินไป จนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ติดลบไปเลย ในกรณีนี้ก็จะต้องจำกัด CSM ไม่ให้มีค่ามากเกินไป จนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ติดลบ

2. Future Cash Flows จากสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เกิดจากการประมาณการที่ดีที่สุด (Best Estimate Assumption) และ Risk Adjustment for Non-Financial Risk นั้นแบ่งเป็น การมองอดีต/ปัจจุบัน กับ การมองอนาคต ที่แยกพิจารณากันดังต่อไปนี้

2.1 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในการประมาณการกระแสเงินสดเฉลี่ยที่เกี่ยวข้องกับบริการในอดีตและปัจจุบันนั้น ก็ให้กระทบลงงบกำไรขาดทุน ได้เลย

2.2 แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับบริการในอนาคตแล้ว ส่วนใหญ่จะนำกลับไปสมทบ/หักออกจาก Contractual Service Margin (CSM) หรือในกรณีที่ขาดทุนจนกระทั่งหัก Contractual Service Margin (CSM) ออกไปหมดแล้วก็ยังไม่พอ ก็จะต้องนำส่วนที่เหลือ (ที่ยังหักไม่หมด) ไปกระทบลงงบกำไรขาดทุน เพราะนั่นหมายถึงว่าสัญญาประกันภัยเกิด Onerous ขึ้นมาแล้ว และต้องบันทึกเป็นขาดทุนและรับรู้ในงบกำไรขาดทุนในทันที

3. อัตราคิดลด (Discount rate) ในมาตรฐาน IFRS17 นี้ มีความตั้งใจที่จะให้แบ่งออกมาสะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk Free Rate) และอัตราดอกเบี้ยที่ชดเชยการขาดสภาพคล่องจากสัญญาประกันภัย (Illiquidity Premium) ซึ่งวิธีการหาอัตราคิดลด (Discount rate) นี้ สามารถใช้วิธี Top-Down Approach หรือ Bottom-Up Approach ได้

3.1 วิธี Top-Down Approach สามารถหาได้จาก การนำผลตอบแทนจากการลงทุนของพอร์ต (Portfolio Yield) มาหักออกด้วยอัตราดอกเบี้ยส่วนที่ชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ซึ่งแปลว่า Discount Rate = Portfolio Yield – Credit Risk

3.2 วิธี Bottom-Up Approach สามารถหาได้จากการนำอัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk Free Rate) มาบวกกับอัตราดอกเบี้ยที่ชดเชยการขาดสภาพคล่องจากสัญญาประกันภัย (Illiquidity Premium) ได้โดยตรง ซึ่งแปลว่า Discount Rate = Risk Free Rate + Liquidity Risk


Portfolio Yield = Risk Free Rate + Liquidity Risk + Credit Risk


อีกประเด็นหนึ่งที่มาตรฐาน IFRS 17 ได้เล็งเห็นความสำคัญและพัฒนาเพิ่มเติมมาจาก IFRS4 คือเรื่องการพยายามทำให้สัญญาประกันภัยที่มีการประมาณการกระแสเงินสดเหมือนกันสามารถคำนวณออกมามีมูลค่าเท่ากัน ซึ่งภายใต้ IFRS4 ในปัจจุบันนี้ทำไม่ได้ เพราะ IFRS4 ไปใช้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัทตัวเองมาใช้เป็นอัตราคิดลดด้วย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการลงบัญชีขึ้น


มาตรฐาน IFRS17 นี้ยังสามารถแบ่งกระแสเงินสดเพื่อภาระผูกพันของกรมธรรม์ (Fulfilment Cash Flows) ออกมาเป็น แบบที่แปรผันต่อตัวแปรที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Varying Fulfilment Cash Flows) เช่น การจ่ายเงินมูลค่าเวรคืนกรมธรรม์ออก (Expected Surrender Outgo) หรือ การจ่ายทุนประกันชีวิต (Death Benefit Outgo) ที่ผูกอยู่กับมูลค่าบัญชี (Account Value) ของแบบประกันพ่วงการลงทุน (United Link Product) เป็นต้น


กับอีกแบบที่ไม่ได้แปรผันต่อตัวแปรที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Non-varying Fulfilment Cash Flows) เช่น กระแสเงินสดทั่วไปอย่างการจ่ายทุนประกันชีวิตของแบบประกันทั่วไป หรือ การจ่ายค่ารักษาพยาบาลจาก สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งกระแสเงินสดเหล่านี้ไม่ได้มีค่าเปลี่ยนไป เมื่อความเสี่ยงหรือตัวแปรทางด้านการเงินเปลี่ยนไป


โดยหลักการแล้ว Varying Fulfilment Cash Flows และ Non-varying Fulfilment Cash Flows จะใช้อัตราคิดลดคนละตัวกันได้ เพื่อให้สะท้อนชนิดของกระแสเงินสดนั้น โดย Non-varying Fulfilment Cash Flows นั้นจะใช้เพียงแค่ อัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk Free Rate) ส่วน Varying Fulfilment Cash Flows จะใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเพราะรวมความเสี่ยงทางด้านการเงินเข้าไปด้วย


ทั้งนี้ ถ้าไม่อยากใช้อัตราคิดลดที่แยกออกจากกันแบบนี้ มาตรฐาน IFRS17 ก็ยอมให้ใช้กระแสเงินสดชุดเดียวและอัตราคิดลดแบบ Risk-neutral ได้เช่นกัน


เมื่อทราบขั้นตอนในการหาอัตราคิดลด (Discount Rate) แล้วทีนี้ก็ลองมาพิจารณาการนำผลลัพธ์ไปประยุกต์บ้าง โดยเราสามารถพิจารณาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยออกเป็น 2 ส่วนได้ดังนี้


1. ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยที่ตั้งเป้าว่าจะลงทุนได้เพื่อจ่ายภาระผูกพันของกรมธรรม์ (Insurance Finance Expense at Locked in Discount Rate) ซึ่งเป็นตัวที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะกำหนดไว้เสมอว่าเงินสำรองกรมธรรม์จะมีการเติบโตขึ้นจากดอกเบี้ย (Unwind) เป็นเท่าไรต่อปี และโดยปกติแล้วค่าอัตราดอกเบี้ยนี้จะถูกคำนวณไว้ตั้งแต่ตอนออกแบบประกันภัยไว้แต่แรกแล้ว บางครั้งในมาตรฐาน IFRS4 เราเรียกมันว่า Valuation Interest Rate หรือบางคนอาจจะเรียกมันว่า Target Profit Rate ก็ไม่ผิดนัก เพราะมันคืออัตราดอกเบี้ยที่กำหนดเอาไว้ในตอนที่ออกแบบประกันภัยและตั้งใจไว้ว่าแบบประกันนี้จะต้องลงทุนให้ได้จึงจะได้กำไรเท่ากับที่คาดหวังไว้ โดยดอกเบี้ยส่วนนี้ถือเป็นการดำเนินงานอย่างหนึ่งของธุรกิจประกันภัยที่ต้องทำให้เงินเติบโตตามที่คาดหมายไว้

2. ส่วนเกินหรือส่วนต่างจากส่วนที่เป็นดอกเบี้ยที่ตั้งเป้าว่าจะลงทุนได้เพื่อจ่ายภาระผูกพันของกรมธรรม์ (Investment Return > Locked-in Rate) นั้นจะสามารถนำส่วนเกินจากส่วนแรกที่กล่าวมาอยู่ในรูปแบบ Investment Margin ได้ ซึ่งจะนำไปลงบัญชีใน Insurance Investment Result บนงบกำไรขาดทุนได้


บทสัมภาษณ์พลิกโฉมธุรกิจประกันกับ IFRS17 ตอนที่ 3 โดย ทอมมี่ แอคชัวรี

แล้วประกันวินาศภัยต้องคำนวณโดยวิธี General Model (GM) เท่านั้นหรือ?


Premium Allocation Approach (PAA) ยังไม่ค่อยได้กล่าวกันนัก แต่สามารถเป็นวิธีทางเลือกสำหรับสัญญาประกันภัยระยะสั้น (Short Duration Contract) ได้ ซึ่งเป็นลักษณะส่วนใหญ่ของแบบประกันวินาศภัย


ใจความสาระสำคัญคือ มาตรฐาน IFRS17 ให้ใช้วิธีทางเลือกนี้ได้ก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าผลลัพธ์ภายใต้การคำนวณวิธีนี้มีค่าไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับการคำนวณวิธี General Model (GM) ทำให้แบบประกันที่เป็นสัญญาประกันภัยระยะสั้น (Short Duration Contract) สามารถเลือกใช้วิธีการนี้ได้ วิธีการคำนวณก็จะใช้หลักการเดียวกับ Unearned Premium Reserve (UPR) ในสมัยครั้งที่เราต้องคำนวณแบบ Risk Based Capital (RBC)


อนึ่ง ถึงแม้ว่าบริษัทประกันวินาศภัยจะขายสัญญาประกันภัยระยะสั้น (Short Duration Contract) ก็ตาม แต่ถ้ามีการประมาณการค่าสินไหมที่คาดว่าจะจ่ายในอนาคตที่ไกลออกไป การคำนวณสำรองหนี้สินของแบบประกันเหล่านี้ จะต้องใช้วิธีคำนวณแบบ General Model (GM) เช่นกัน ซึ่งมาตรฐาน IFRS17 ในส่วนนี้จะทำให้บริษัทประกันวินาศภัยเงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัยที่แตกต่างไปจากเดิมพอสมควรสำหรับธุรกิจประกันชีวิตที่มีสัญญาประกันภัยระยะสั้น (Short Duration Contract) โดยเฉพาะพวกสัญญาเพิ่มเติมที่แนบกับสัญญาหลัก ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน


“สำหรับโลกของการตั้งสำรองประกันภัยและการลงงบการเงินตามหลักมาตรฐานสากลของธุรกิจประกันภัยนั้น ไม่ได้ดูกันที่ใบอนุญาตประกอบธุรกิจว่าเป็นบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย หากแต่ดูที่ลักษณะของตัวสัญญาว่าเป็นสัญญาประกันภัยระยะยาว (Long Duration Contract) หรือสัญญาประกันภัยระยะสั้น (Short Duration Contract) เสียมากกว่า ดังจะเห็นได้ว่า บริษัทประกันชีวิตสามารถขายสัญญาประกันภัยระยะสั้น (Short Duration Contract) และใช้วิธี Premium Allocation Approach (PAA) ได้ และในขณะเดียวกัน บริษัทประกันวินาศภัยก็สามารถขายสัญญาประกันภัยระยะยาว (Long Duration Contract) ได้ เช่น ประกันที่คุ้มครองมะเร็ง เป็นต้น”


ตอนที่เริ่มคำนวณและทำครั้งแรกต้องทำอย่างไร?

หลายคนคงสงสัยว่าในเมื่อหลักการของมาตรฐานใหม่ มันเปลี่ยนไปมากอย่างนี้แล้ว ในวันแรกที่ต้องนำมาตรฐาน IFRS17 มาปฏิบัติใช้นั้นจะต้องทำอย่างไร คำนวณมาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่อง Contractual Service Margin (CSM) ที่ต้องฝังไปกับกรมธรรม์แต่ละตัวนั้นจะทำอย่างไร


ในเมื่อบริษัทประกันภัยได้ขายกรมธรรม์ไปแล้ว อยู่ดีๆ เราจะประเมินมูลค่าสัญญาประกันภัยพร้อมกับ Contractual Service Margin (CSM) ที่ว่านั้น ภายใต้มาตรฐานใหม่ได้ ก็ควรจะมองย้อนเวลากลับไปเสมือนหนึ่งตั้งแต่วันแรกที่เริ่มขายแล้วหมุนเวลากลับมาเป็นตอนนี้ว่าประเมินเป็นมูลค่าได้เท่าไร


วิธีการแรกนี้เรียกว่า Full Retrospective Approach (ย้อนเวลากลับไป) ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว เราคงไม่ได้เก็บข้อมูลย้อนหลังเอาไว้ได้ทั้งหมด วิธีการนี้จึงนำมาปฏิบัติได้ยากมาก ซึ่งมาตรฐาน IFRS17 นี้สามารถยอมให้ใช้วิธีการประมาณการจากอดีตโดยใช้ตัวแปรประมาณการ (ไม่ต้องเก็บข้อมูลจริง) มาได้ วิธีที่สองนี้เรียกว่า Modified Retrospective Approach


วิธีการดังกล่าวนี้ก็เหมือนกับตอนที่บริษัทประกันชีวิตต้องการเปลี่ยนวิธีการคำนวณเงินปันผลสำหรับผู้ถือกรมธรรม์ซึ่งจะประเมินใหม่ว่าเป็นเท่าไร ก็ต้องทำเสมือนหนึ่งย้อนเวลากลับไปศึกษาประสบการณ์ (Experience Study) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของแต่ละกรมธรรม์นั่นเอง ซึ่งบางครั้งก็จะใช้วิธีการประมาณการจากอดีตโดยใช้ตัวแปรประมาณการเอา จึงเหมือนกับเป็นการ Modified จากวิธี Full Retrospective Approach อย่างหนึ่งนั่นเอง


ข่าวดีก็คือ ถ้าเราไม่อยากใช้วิธีการ Full Retrospective Approach ก็สามารถทำได้ด้วยวิธีการมองไปข้างหน้าแบบ Prospective วิธีการที่สามนี้จะเรียกว่า Fair Value Approach ซึ่งทำได้โดยการคำนวณหา Contractual Service Margin (CSM) มาจากมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) หักออกด้วย มูลค่าปัจจุบันของ Fulfilment Cash Flow (กระแสเงินสดเพื่อภาระผูกพันของกรมธรรม์) ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากวิธีการคำนวณแบบ General Model (GM) ของ IFRS17 ที่ได้กล่าวมาข้างต้น


อนึ่ง การที่จะเริ่มนำอะไรมาใช้ครั้งแรก และจะมีหลายรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเฉพาะในตอนที่นำมาใช้ (Implement) ครั้งแรกเท่านั้น เรียกว่าเป็น One Off ที่ไม่เกิดขึ้นอีก ไม่จำเป็นต้องใส่เข้าไปในระบบปฏิบัติการของบริษัทประกันภัย เพียงแค่ทำครั้งเดียวครั้งแรกตอนทำ Transition เท่านั้น ในการจัดการโครงการ บ่อยครั้งเราจะเรียกมันว่า “โครงการของโครงการ (Project of Project)” ด้วยซ้ำ และส่วนใหญ่เราจะมาทำหลังสุด หลังจากที่ลงระบบทุกอย่างเรียบร้อยเกือบหมดแล้ว

 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Comments


แองเคอ 1
แองเคอ 2
แองเคอ 3
bottom of page