top of page

บทสัมภาษณ์พลิกโฉมธุรกิจประกันกับIFRS17 ตอนที่4 (จบ) โดย ทอมมี่ แอคชัวรี



สิ่งน่ากลัวที่ไม่ควรมองข้าม…


ในมาตรฐานใหม่นี้ มีจุดหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิม คือไม่มี Balancing Items หรือช่องที่เรียกว่า “อื่นๆ (Others)” ในหมายเหตุประกอบงบ (Disclosure) อีกต่อไป แสดงว่าเวลาที่คำนวณแล้วได้ตัวเลขไม่ลงตัว ก็จะไม่มีช่องให้หยอดลง ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นปัญหาใหญ่อยู่ไม่น้อยสำหรับคนในระดับปฏิบัติงาน เพราะใครที่เคยคำนวณและกระทบยอดจะรู้ดีว่า มันอาจจะมีความแตกต่างที่ไม่กระทบยอดอยู่บ้าง แม้ว่าค่าที่แตกต่างมันจะเป็น 0.1% ก็ตาม

ทั้งนี้ เราคงต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า ถ้ามันกระทบยอดไม่ได้จริงๆ แล้วมันจะไปใส่ลงในที่ไหน ทางที่ดีก็ควรปรึกษาหรือแจ้งผู้สอบบัญชีให้แต่เนิ่นๆ ก่อนสำหรับเรื่องนี้ครับ


แล้วแบบประกัน Universal Life กับ Unit Linked นั้นสามารถใช้วิธี

General Model (GM) ได้หรือไม่?


คำตอบคือมันมีวิธีการคำนวณอีกแบบหนึ่งสำหรับบริษัทที่ขายแบบประกันพวกนี้ครับ วิธีนี้เรียกว่า Variable Fee Approach (VFA) ซึ่งหลักการก็คล้ายกับวิธี General Model (GM) เพียงแต่จะมีคุณลักษณะเพิ่มเติมจากการเป็น Participating Contracts (แบบประกันที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประกอบการด้วย) โดยตรง ซึ่งแบบประกันแบบมีส่วนร่วมในเงินปันผล (Participating Product) ของธุรกิจประกันชีวิตนั้น ถึงแม้ชื่อจะคล้ายแต่ไส้ในนั้นยังไม่ได้มีกลไกลในการผูกสูตรการจ่ายเงินปันผลแบบนี้ (หรืออีกนัยหนึ่งคือ ยังไม่ได้มีลักษณะเป็น Profit Sharing อย่างแท้จริง จึงยังต้องใช้ General Model (GM) เหมือนเดิม จะมีก็แต่พวก Universal Life กับ Unit Linked ที่สามารถคำนวณโดยใช้วิธีการนี้ได้ ถ้าเข้าเงื่อนไขดังกล่าวและมีการแยก fund ของสินทรัพย์ออกมาอย่างชัดเจน เนื่องจาก Universal Life ที่ขายในประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ยังไม่ได้มีการแยก fund ของสินทรัพย์ออกมาอย่างชัดเจน จึงยังทำให้ไม่สามารถใช้วิธี Variable Fee Approach (VFA) ได้


เมื่อเปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนจะเข้าใจหรือ?


อันนี้เป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้เลย เพราะงบการเงินของธุรกิจประกันนั้นจะเปลี่ยนไปอย่างมากจากการใช้มาตรฐานใหม่นี้ และอาจจะทำให้คนที่คุ้นเคยกับอ่านงบการเงินเดิมนั้นสับสนหรือตีความผิดได้ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่เข้าใจดีพอกับวิธีการอ่านงบการเงินตามมาตรฐานใหม่ ดังนั้น ก่อนการนำมาตรฐาน IFRS17 นี้มาใช้ ก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้นักลงทุน เจ้าของกิจการ พนักงาน ผู้ถือกรมธรรม์ รวมถึงสื่อต่าง ๆ ให้เข้าใจเป็นภาพเดียวกันก่อนว่าจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แม้ว่าตอนแรกจะดูเหมือนซับซ้อนและเข้าใจยากไปบ้างแต่มาตรฐานใหม่นี้จะแยกส่วนประกอบของการพิจารณารับประกันกับการลงทุนออกอย่างชัดเจน อีกทั้งยังนิยามการรับรู้รายได้/รายรับจากค่าธรรมเนียม (ไม่ใช่เบี้ยประกันภัย) อีกต่อไป ทำให้ประกันชีวิตและประกันวินาศภัยเปรียบเทียบกันเองได้ และเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นได้ นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความเข้าใจเรื่องของการรับรู้กำไรและขาดทุนว่ามันจะสะท้อนออกมาแบบไม่สมมาตรอีกต่างหาก หัวใจหลักจึงอยู่ที่หลักการของเรื่อง Onerous Contract (เวลาขาดทุน) กับ Contractual Service Margin (CSM) (เวลากำไร) อีกด้วย



สิ่งที่จะเห็นได้ชัดหลังจากการใช้มาตรฐาน IFRS17 นี้ ก็คือการรับรู้รายได้ของเบี้ยประกันชีวิตจะลดฮวบลงมาอย่างมาก เพราะเปรียบเหมือนการคิดจากค่าธรรมเนียมเท่านั้น (ไม่สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตมารับรู้เป็นรายได้อีกต่อไป) ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการรับรู้รายได้ และการแตกงบการเงินหลายรายการที่ซับซ้อนขึ้นเช่นกัน หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าธุรกิจประกันภัยรายได้หดหาย และอาจทำให้ตลาดหุ้นผันผวนไปได้ ถ้านักลงทุนไม่ได้เข้าใจมาตรฐาน IFRS17 นี้เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบบประกันสะสมทรัพย์ที่ขายผ่านธนาคารจะได้รับผลกระทบกับความเข้าใจผิดนี้มาก เนื่องจากจะไม่สามารถรับรู้เบี้ยประกันภัยได้อีกต่อไป เช่น เบี้ยประกันภัย 1 แสนบาท อาจจะรับรู้เป็นเหมือนเพียงค่าธรรมเนียมได้แค่ 1 พันบาทเป็นรายได้เท่านั้น


สำหรับธุรกิจประกันชีวิตยิ่งมีเรื่องการรับรู้กำไรและขาดทุนที่ไม่เหมือนกัน ถ้าขาดทุนก็ต้องรับรู้ทั้งหมดเลย แต่ถ้ากำไรต้องทยอยรับรู้จนกว่าจะหมดสัญญา แปลว่า มาตรฐาน IFRS17 นี้จะทำให้บริษัทประกันชีวิตรับรู้กำไรได้ช้าลงกว่ามาตรฐานเดิมที่เคยใช้อยู่ อย่างไรก็ดี มันทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปใหญ่ว่า มาตรฐานใหม่นี้จะทำให้กำไรลดลง ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร


นอกจากนี้แล้ว IFRS17 ยังจะช่วยทำให้รับรู้กำไรอย่างสม่ำเสมอ (Smooth Profit) และไม่เหวี่ยงขึ้นลงเหมือน IFRS4


ขอย้ำอีกครั้งครับว่า มาตรฐาน IFRS17 นี้ ไม่ควรทำให้การรับรู้กำไรของธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยลดลงแต่อย่างไร มีเพียงธุรกิจประกันชีวิตที่จะรับรู้กำไรได้ช้าลง (เป็นเพียงแค่ profit pattern ในแต่ละปีเปลี่ยนไป) แต่เมื่อนับกำไรรวม (Total Profit) แล้วก็จะยังคงเท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานฉบับเดิม (IFRS4) หรือ มาตรฐานฉบับใหม่ (IFRS17) ก็ตาม


มี IFRS17 แล้วต้องมี RBC อีกหรือไม่?

เราอย่าเพิ่งสับสนระหว่าง IFRS17 (International Financial Reporting Standard 17) กับ RBC (Risk Based Capital) เพราะวัตถุประสงค์ของแต่ละตัวนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดย IFRS17 นั้นเป็นมาตรฐานรายงานทางการเงินที่เอาไว้ใช้กับงบการเงิน ซึ่งจะกระทบกับงบกำไรขาดทุนและงบดุล รวมถึงหมายเหตุประกอบงบด้วย แต่สำหรับ RBC แล้วเป็นการคำนวณความสามารถในการชำระหนี้ได้ในอนาคต ซึ่งภาษาทั่วไปเรียกกันว่า Solvency Ratio และถ้าให้เจาะจงสำหรับ RBC แล้วจะถูกเรียกว่า Capital Adequacy Ratio (CAR) นั่นเอง ซึ่งการคำนวณ RBC นั้นจะมุ่งเน้นไปที่งบดุลเป็นหลัก IFRS17 ต้องการที่จะสะท้อนผลประกอบการบริษัทลงในงบการเงิน ส่วน RBC ต้องการสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท (มีเงินจ่ายผลประโยชน์คืนให้กับผู้ถือกรมธรรม์)

ผลลัพธ์ที่ได้ของ IFRS 17 คือ งบการเงินตามมาตรฐานบัญชีสากล ส่วนผลลัพธ์ของ RBC คือ Capital Adequacy Ratio (CAR) ตามพรบ.ประกันชีวิตและพรบ.ประกันวินาศภัย

ผู้ที่อยู่ในคณะทำงานหลักของ IFRS17 จะมาจาก สภาวิชาชีพบัญชี ส่วนผู้ที่อยู่ในคณะทำงานหลักของ RBC คือ คปภ. อย่างไรก็ตาม ทางคปภ. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และก็กำลังจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาผลกระทบของ IFRS17 เช่นกัน



ถึงแม้วัตถุประสงค์ของ IFRS17 กับ RBC จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ทั้งคู่ก็เป็นมาตรวัดที่ทั่วโลกนิยมเอามาใช้คู่กัน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เห็นภาพในมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งนักบัญชี นักคณิตศาสตร์ประกันภัย และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรและภาคธุรกิจให้เชื่อมต่อและผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยแพลตฟอร์ม (Platform) ที่จะพลิกโฉมธุรกิจประกันภัยในไม่ช้านี้


ความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง IFRS17 กับ VoNB/VIF


VoNB (Value of New Business) และ VIF (Value of Inforce) เป็นคำที่คุ้นเคยกันดีทั้งภาคธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย ในเวลาที่ต้องการประเมินราคาหุ้นหรือมูลค่ากิจการของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นวิธีที่ใช้กันในตอนที่ต้องมีการควบรวมกิจการ


Contractual Service Margin (CSM) ในวันที่ออกกรมธรรม์นั้นเปรียบเทียบได้กับ Value of New Business (VoNB)

Contractual Service Margin (CSM) ในเวลาต่อมาหลังจากที่ออกกรมธรรม์ไปแล้วนั้น เปรียบเทียบได้กับ Value of Inforce (VIF) โดย Contractual Service Margin (CSM) จะมองจากอดีตจนมาถึงวันนี้ (Retrospective) แต่ Value of Inforce (VIF) จะเป็นการมองจากอนาคตข้างหน้ามาเป็นวันนี้ (Prospective)


ทั้งนี้ จะเห็นว่า Contractual Service Margin (CSM) ในมาตรฐาน IFRS17 จะไปลดความสำคัญของการคำนวณแบบ VoNB/VIF ลง และการตั้ง Key Performance Index (KPI) ของบริษัทประกันในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากการใช้ VoNB/VIF มาเป็น Contractual Service Margin (CSM) ของมาตรฐาน IFRS17 แทน



ตบท้าย

เนื่องจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย เป็นมาตรฐานรายงานทางการเงินที่มีผลกระทบต่อการจัดประเภทและวัดมูลค่า ตลอดจนการแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลอย่างมีสาระสำคัญต่อธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย อีกทั้งยังเป็นมาตรฐานที่ต้องร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น คณิตศาสตร์ประกันภัย การบัญชี หรือแม้แต่กระทั่งการลงทุน หลายหน่วยงานในธุรกิจประกันภัยได้ตระหนักถึงความสำคัญและเตรียมติดอาวุธทางความรู้ให้พร้อมเพื่อการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว และได้ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อที่จะได้นำมาตรฐานนี้ไปใช้และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคธุรกิจ


จากที่อ่านมาตรฐานฉบับนี้แล้ว สิ่งหลักๆ ที่เปลี่ยนโฉมธุรกิจประกันภัย มีดังนี้


1. วิธีการรับรู้รายได้ ที่เปลี่ยนจากเบี้ยประกันภัย (Premium) ให้เป็นเหมือนค่าธรรมเนียม (Service Fee)

2. วิธีการรับรู้กำไร/ขาดทุนตั้งแต่วันแรกแบบอสมมาตร (Asymmetry) ซึ่งเมื่อเวลาขาดทุน (Onerous Contract) ก็จะให้บันทึกขาดทุนลงทันที แต่เวลาที่กำไรก็จะให้ทยอยรับรู้ (แบบ Contractual Service Margin)

3. วิธีการรับรู้กำไร/ขาดทุนหลังจากที่ได้ขายกรมธรรม์แล้ว ซึ่งต้องเก็บบันทึก (Keep Record) สิ่งที่เคยลงกำไรหรือขาดทุนไปแล้วตลอดเวลา เนื่องจากความเป็นอสมมาตร (Asymmetry) ในการรับรู้ทั้งสองขาที่แตกต่างกัน

4. กำไรจะถูกนิยามให้ละเอียดขึ้นโดยแบ่งเป็น Underwriting Performance และ Investment Performance

5. การคำนวณสำรองกรมธรรม์ประกันภัยแบบ Building Bloch Approach ซึ่งในมาตรฐานนี้เรียกว่า General Model (GM) และวิธีการคำนวณแบบเฉพาะเจาะจงไม่ว่าจะเป็น Premium Allocation Approach (PAA) ที่ธุรกิจประกันวินาศภัยจะใช้เป็นหลัก และ Variable Fee Approach (VFA) ที่บริษัทประกันชีวิตที่ขาย Universal Life (มีการแยก fund ของสินทรัพย์ออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งที่ขายในประเทศไทยอยู่ ยังไม่เข้าเงื่อนไขนี้) หรือ Unit Linked ต้องนำมาใช้


สิ่งที่ต้องย้ำอีกครั้งคือ มาตรฐานฉบับนี้ ถึงแม้จะทำให้การรับรู้รายรับ/รายได้ (Revenue/Income) เปลี่ยนไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้กำไรทั้งหมดเปลี่ยน (No change in Total Profit) สิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือการทยอยรับรู้กำไร (Change in Profit Pattern / Profit Emergence) ในแต่ละปีเท่านั้น ที่อาจจะทยอยรับรู้ได้ช้าลง


และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเตรียมตัวให้พร้อมกับมาตรฐานบัญชีฉบับนี้ คือ เรื่องการเตรียมข้อมูล (Data) การเตรียมระบบ (System) การเตรียมกระบวนการ (Process) และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การเตรียมความรู้ให้กับบุคคลากร ผู้บริหาร รวมถึงนักลงทุนทั่วไปมีคนบอกว่าใครเข้าใจมาตรฐานฉบับนี้แล้ว รับรองว่าสามารถเกษียณได้เร็วขึ้นครับ เพราะงานนี้พอยิ่งได้ศึกษามากเท่าไรแล้ว ก็ยิ่งรู้ว่ามันซับซ้อนมากแค่ไหน และก็ยิ่งอยากเกษียณเร็วขึ้นเท่านั้นครับ (จะได้ไม่ต้องทำให้ปวดหัว....ฮา.....)


สุดท้ายแล้ว ในฐานะอดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ผมคิดว่าการนำมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS17 มาใช้นี้ จะทำให้งบการเงินโปร่งโส เข้าใจง่าย และเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้งบการเงินของธุรกิจประกันภัยเป็นที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น หากแต่การนำมาปฏิบัติใช้และต้นทุนในการจัดทำรายงานงบการเงินตามมาตรฐานสากลนี้ ยังคงต้องวางแผนอย่างละเอียดและจัดทำให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลาการ การสร้างความเข้าใจให้กับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ การเปลี่ยนแปลงขอบทบาทและความรับผิดชอบในแต่ละส่วนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่คงจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงความพร้อมของการจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ระบบซอฟแวร์ ระบบดำเนินงาน และการเชื่อมโยงกับระบบที่มีอยู่เดิมของบริษัทประกันภัย เพื่อให้ประโยชน์เกิดขึ้นสูงสุดกับภาคธุรกิจและส่วนรวม ด้วยต้นทุนและระยะเวลาในการจัดทำที่ควบคุมได้ จึงจะเรียกได้ว่าเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง


 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น


 

บทความที่น่าสนใจ (อ่านต่อ)


บทความที่เกี่ยวข้อง


Comments


แองเคอ 1
แองเคอ 2
แองเคอ 3
bottom of page